“ผูกปิ่นโตข้าว”

“ผูกปิ่นโตข้าว”


1. โครงการ “ผูกปิ่นโตข้าว” คืออะไร?

ผูกปิ่นโตข้าวเป็นโครงการที่ไม่แสวงหากำไร แต่แสวงหาสังคมที่ดีขึ้น

เราไม่ใช่คนกลางหรือบริษัทซื้อขายข้าว
ไม่ใช่แม้แต่ Social Enterprise

แต่เราเป็น “แม่สื่อ” ค่ะ

เราทำหน้าที่ แม่สื่อ พา “เจ้าบ่าว” ชาวนา มารู้จักกับ “เจ้าสาว” คนกินข้าว ดูใจดูคุณสมบัติและความต้องการของแต่ละฝ่าย ให้คำแนะนำ จนตกลงใจผูกปิ่นโตกัน 12 เดือน สนับสนุนการไปมาหาสู่ ให้ความสัมพันธ์หอมกรุ่น และติดตามผลชีวิตคู่จนออกลูกออกหลาน (โดยเราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการซื้อขาย เพราะเจ้าสาวจะจ่ายให้เจ้าบ่าวโดยตรง จะไม่มีเงินผ่านมือเราแม้แต่บาทเดียว)

 

 

2. ผูกปิ่นโตข้าว มีความตั้งใจอย่างไร?

เรามีความตั้งใจที่จะสร้างให้เกิดคนปลูกข้าวอินทรีย์และคนกินข้าวอินทรีย์ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในประเทศไทย เพื่อให้ชาวนาไทยและคนกินข้าวไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข อย่างยั่งยืน

และเราอยากเห็นคนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะเป็นใครก็ตาม ได้ผูกชีวิตผูกหัวใจให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยความสัมพันธ์ฉันญาติมิตร

 

 

3. ทำไมต้องเป็นอินทรีย์?

อย่างที่เรารู้กันโดยทั่วไปคือ อาหารอินทรีย์นั้นดีต่อสุขภาพ ทั้งคนกิน และคนปลูก

และเราเชื่อว่าทางรอดของชาวนาไทยคือ การปลดแอกตัวเองออกจากการใช้สารเคมีปุ๋ยยาในการปลูกข้าว (ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันมานานนมตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียวเป็นต้นมา) สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนการผลิตที่สูง เป็นวงเวียนที่ก่อให้เกิดหนี้ไม่รู้จบ และมีผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา กร่อนคุณภาพชีวิตของคนปลูกข้าวไปทุกวัน

อีกทั้งการใช้เคมียังมีผลกระทบไปถึงดิน น้ำ และอากาศที่เราหายใจเข้าไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่เป็นบ่อเกิดของสุขภาพที่อ่อนแอของเราและลูกหลานของเรา

และรวมถึง เราเห็นว่าคนไทยมีสิทธิ์ที่จะได้กินข้าวที่ปลอดภัย ที่มีคุณภาพ ที่ปลูกด้วยความตั้งใจ เพราะแผ่นดินเราได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่ทราบไหมคะว่า ทุกวันนี้ ข้าวอินทรีย์คุณภาพดี ส่งไปขายที่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ คนไทยไม่ได้กิน เรากลับได้กินข้าวที่ปลูกด้วยเคมีค่ะ

 (ไทม์ไลน์ชาวนาไทยและคนกินข้าวไทย)

 

4. ใครคือเจ้าบ่าวใครคือเจ้าสาว?

เจ้าบ่าว – ชาวนา ที่ปลูกข้าวแบบอินทรีย์อยู่แล้ว หรือกำลังจะเลิกเคมี หันมาปลูกอินทรีย์

เจ้าสาว – คนเมือง ที่อยากกินข้าวปลอดภัย และอยากสนับสนุนชาวนาไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

รู้จักเจ้าบ่าวชาวนาอินทรีย์ของเราค่ะ

 

 

5. ทำไมเราต้องจับคู่?

อย่างแรกเลยคือ เราอยากให้คนเมืองมีโอกาสให้กำลังใจชาวนา ทั้งที่ปลูกข้าวอินทรีย์อยู่แล้ว และกำลังจะเปลี่ยนมาปลูกอินทรีย์ การเปลี่ยนนั้นต้องอาศัยความกล้าหาญ กำลังใจ และความสม่ำเสมอเป็นอย่างมาก เราชาวเมืองสามารถเป็นความมั่นใจและความมั่นคงให้เขาได้ ในเมื่อเราผูกกัน เป็นญาติพี่น้องกันแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราจะผ่านมันไปด้วยกัน

อย่างที่สอง การจับคู่ซื้อขายส่งของกันโดยตรงนั้น สามารถทำให้ราคาข้าวอินทรีย์ถูกลงสำหรับคนกิน และได้ราคามากขึ้นสำหรับคนปลูก เนื่องจากโดยทั่วไป กระบวนการหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกอินทรีย์ จนมาถึงวางบนชั้นซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ถ้าถูกทำโดยบริษัทใหญ่ จะมีค่าใช้จ่ายในการจัดการและดูแลมาก (ต่างจากข้าวที่ปลูกด้วยเคมี) แต่ถ้าสีกันสดๆ ทุกเดือน ส่งตรงถึงมือคนกินทันที ค่าใช้จ่ายจะน้อยลง และสามารถขายในราคาที่คนเมืองเอื้อมถึงได้ง่ายๆ

และสิ่งที่สำคัญที่สุด เราได้ลดช่องว่างระหว่างกัน เราได้เชื่อมโยง ติดต่อ ไปมาหาสู่ ส่งจดหมายให้กำลังใจ ไปเรียนรู้การทำนา สร้างความภูมิใจให้ชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากิน มีโอกาสได้ขอบคุณความตั้งใจและความกล้าหาญของพวกเขาอยู่เสมอ – เราได้ร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกันนะคะ

 

6. อยากเป็นเจ้าสาวต้องทำอย่างไร?

หากคุณ…
พร้อมสนับสนุนชาวนาอินทรีย์ ที่ข้าวทุกเมล็ด ได้ผ่านการปลูกด้วยฝีมือ ด้วยใจ ด้วยปราศจากเคมีในทุกกระบวนการ และข้าวของเขาผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม “มาตรฐานผูกปิ่นโตข้าว” ที่พวกเราคนกินคนปลูกช่วยกันตรวจสอบอย่างใส่ใจ
คุณพร้อมสนับสนุน เพราะคุณต้องการให้เขารู้ว่าคุณอยู่เคียงข้างเขาเสมอ คุณต้องการให้กำลังใจชาวนาอินทรีย์ที่มีจำนวนไม่มากในประเทศไทย ให้เขาขยายชุมชนของเขาให้เข้มแข็งมากขึ้น
เราขอต้อนรับคุณในฐานะ “เจ้าสาว” ค่ะ

และคุณจะผูกปิ่นโตแบบไหน

“แบบทีม” – รวมกันได้สิบคนยี่สิบคน มารับข้าวใหม่กันทุกเดือน ถือเป็นการพบปะสังสรรค์ หรืออาจจะรวมกับเพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงานก็ได้

“แบบธุรกิจ” – สำหรับองค์กร ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านขายข้าวสาร ฯลฯ

“แบบเดี่ยว” – สำหรับคนที่อยากสั่งเดี่ยว แบบส่งไปรษณีย์มาถึงบ้าน

(รายละเอียดค่ะ)

 

 

7. ขั้นตอนการผูกปิ่นโตข้าว

1.  เจ้าสาวกรอกใบสมัครที่ทำให้แม่สื่อได้รู้จักคุณอย่างละเอียด ที่นี่ค่ะ ใบสมัครเจ้าสาวผูกปิ่นโตข้าว

2.  ภายใน 14 วัน แม่สื่อจะทำการคัดสรร ผูกเจ้าบ่าวที่เหมาะสมตรงใจเจ้าสาวที่สุด

3.  เจ้าสาวจะได้รับการติดต่อจากโครงการ เพื่อแจ้งผลการผูก โดยแม่สื่อจะโทรศัพท์หาเจ้าสาว เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าสาวพร้อมเข้าหอแล้ว

4.  เจ้าบ่าวจะติดต่อเจ้าสาว  จากนั้นทั้งคู่จะพูดคุย ตกลงกันเรื่องราคาและการจัดส่ง (โดยแม่สื่อจะคอยดูห่างๆ ไม่หายไปไหน)

5. หลังจากนั้น เจ้าบ่าวจะเชิญเจ้าสาวเข้าห้องหอ (กรุ๊ปไลน์ของเจ้าบ่าว) เพื่อเป็นช่องทางพูดคุย สอบถามทั่วๆ ไป รวมถึง นัดแนะไปพบกันถึงที่นา ในยามดำนา เกี่ยวข้าว หรือ แม้ไม่มีโอกาสใด เราก็อยากให้เจ้าสาวแวะไปหา และพูดคุยกับเจ้าบ่าวบ่อยๆ เพราะความสัมพันธ์คือบ่อเกิดแห่งความไว้ใจและตั้งใจมอบสิ่งดีๆ ให้

6.  เรื่องราวความสัมพันธ์ของแต่ละคู่ แม่สื่อจะขอถ่ายทอดผ่านทางเพจ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คู่อื่นๆ และว่าที่เจ้าบ่าว ว่าที่เจ้าสาว ต่อๆ ไป

7. แม่สื่อจะคอยดูแลความสัมพันธ์อย่างห่างๆ และพร้อมรับฟังให้คำปรึกษาได้ทุกเมื่อ เพียง inbox มาที่ www.facebook.com/pookpintokao

 

 

8. งานนี้รีบไหมไว้ค่อยทำได้หรือเปล่า?

ปีหน้าเราจะเข้าสู่ AEC แล้ว ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านจะเข้ามาขายในบ้านเราได้อย่างเสรี และจะมีราคาถูกกว่าข้าวเรามาก เพราะต้นทุนเขาถูกกว่า (หลายประเทศชาวนาไม่ต้องเช่าที่ดิน การจัดการน้ำเขาก็ดีกว่า) ข้าวเราจะขายได้น้อยลง ชาวนาจะอยู่ยากขึ้น จนมีการประเมินว่า ถ้าเป็นแบบนั้นไปสัก 10 ปี จะมีชาวนาไทยเหลือไม่ถึง 5% เท่านั้น

(รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้)

แต่ถ้าหากเราสามารถผูกปิ่นโตผูกใจกันไว้ได้ สร้างการซื้อขายแบบครอบครัวเดียวกัน ข้าวราคาถูกจากที่ไหน หรือสารเคมีเร่งโตได้แค่ไหน ก็ไม่สามารถเข้ามาแทรกระหว่างความสัมพันธ์นี้ได้ เพราะเราผูกพันกันในระดับใจถึงใจ ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่สามารถเข้มแข็งได้มากที่สุดเช่นกัน

และอีกอย่างหนึ่ง ปัญหาชาวนายากจน มีหนี้สิน ปัญหาดินเสื่อมสภาพลงเพราะอัดปุ๋ยอัดยา ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในบ้านเรา มีมาชั่วนาตาปีแล้วค่ะ หลายสิบปีที่ผ่านมา แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซ้ำกลับแย่ลง – ถ้าไม่ใช่วันนี้… แล้วจะเป็นวันไหน ถ้าไม่ใช่เรา… แล้วจะเป็นใคร

งานนี้เรารีบ ทั้งสร้างให้เกิดคนปลูกและคนกินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งสร้างบทสนทนาที่จะทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้

และเราขอเชื้อเชิญ ให้คุณจะเป็นกำลังสำคัญร่วมไปกับเราค่ะ

 

ขอขอบพระคุณในน้ำใจของทุกท่าน

ผูกปิ่นโตข้าว

+ There are no comments

Add yours