ความเร่งด่วนของโครงการ

ความเร่งด่วนของโครงการ


ความเร่งด่วนของโครงการ เพื่อชีวิตชาวนาไทย

นานแค่ไหนแล้ว ที่คุณไม่ได้เห็นกระเทียมไทย กลีบเล็กๆ กลิ่นแรงๆ ที่เรากินกันมาตั้งแต่เด็ก แต่กลับเห็นกระเทียมจีน กลีบใหญ่ๆ หัวโตๆ กลิ่นจางๆ ทั่วไปทุกที่
…กระเทียมไทยหายไปไหน

กระเทียมไทยได้รับผลกระทบจากการที่ไทยเปิดเสรีการค้ากับจีน เมื่อปี 2546 เนื่องจากสามารถนำเข้ากระเทียมจากจีนได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ด้วยความที่ต้นทุนของจีนต่ำกว่าต้นทุนของบ้านเราถึงครึ่ง ทำให้กระเทียมจีนทะลักเข้ามาตีตลาด จนหากระเทียมไทยแทบไม่เจอ มีผลกระทบให้คนปลูกกระเทียมในภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่หลัก ต้องล้มละลายและต้องไปประกอบอาชีพใหม่จำนวนมาก

ข้าวไทย กำลังจะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน?

ในปี 2558  เราจะเข้าสู่ AEC แล้ว นั่นแปลว่า สินค้าเกษตรมากมายจะสามารถเข้ามาขายในบ้านเราได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวมาก ที่จะต้องเสียภาษี 5% และน้อยกว่า 5% ตามลำดับ (นี่เป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศนั้นรับมือกับการเข้ามาของ สินค้าจากประเทศอื่นได้ในระดับหนึ่ง) ซึ่งถ้าคุณคิดว่าจะมี “ข้าว” อยู่ในรายการยกเว้นของประเทศเรา ขอบอกว่า ไม่มีค่ะ สินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวมากในรายการของประเทศไทยมีอยู่ 4 อย่างคือ ไม้ตัดดอก มะพร้าวแห้ง มันฝรั่ง กาแฟ ในขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เขามีข้าวของเขาอยู่ในรายการ (ข้าวเราไม่อ่อนไหวเหรอเนี่ย)

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร เริ่มปี 2558 นี้เลย ข้าวจากเขมร เวียดนาม พม่า จะเข้ามาตีตลาดไทยด้วยราคาที่ถูกกว่ามาก เพราะต้นทุนเขาถูกกว่า ข้าวไทยมีต้นทุน 8,711 บาทต่อตัน (นาปรัง ปี56) ของเวียดนามมีต้นทุน 4,960 บาทต่อตัน ถูกว่าเราเกือบครึ่ง! แต่พม่าและเขมรมีต้นทุนต่ำกว่านั้นอีกค่ะ และคุณภาพดีกว่าด้วย – ทำไมถึงคุณภาพดีกว่า เพราะเขามีแต่ข้าวพื้นบ้านและข้าวนาปี แถมยังมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง ทำไมต้นทุนถึงถูกว่า เพราะค่าแรงถูกกว่า เขาไม่ต้องเช่าที่นาเหมือนชาวนาเรา และระบบการจัดการน้ำเขาดีกว่ามาก

แล้วชาวนาไทยจะรอดได้อย่างไร
ต้นทุนเราสูง ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาเราแพง ราคาขึ้นทุกปี

ทางรอดและทางสว่างสำหรับชาวนาไทย (ไม่นับว่าจะคิดพึ่งพารัฐบาลอะไรยังไงนะคะ) คือชาวนาที่มีต้นทุนต่ำ และชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เกือบจะเป็นเรื่องเดียวกัน การทำเกษตรอินทรีย์จะทำให้มีต้นทุนต่ำเพราะตัดค่ายาเคมีและค่าปุ๋ยไปได้ ตอนนี้จะเห็นได้ว่าชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์ส่งออกนั้นรอดหมด ไม่เดือนร้อน มีตลาดมารอทุกปี แต่ถ้าเทียบจำนวนแล้ว ยังอยู่ในจำนวนที่น้อยมากค่ะ

ความเดือดร้อนปีนี้ จำนำข้าวน่ะ – เผาหลอก
ปีหน้า AEC นี่น่ะ – เผาจริง!

ถ้าเพื่อนบ้านเรามีข้าวราคาถูกที่สามารถเข้ามาขายได้อย่างเสรี และระบบโครงสร้างของการทำนาของไทยยังไม่ถูกปฏิรูป ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี อาจมีชาวนาไทยเหลือไม่ถึง 5% และคนไทยอาจต้องกลายเป็นชนชาติที่ซื้อข้าวจากต่างประเทศมากิน!

เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศเราเสียแล้ว

“ผูกปิ่นโตข้าว” มีความตั้งใจที่จะพลิกคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย ไม่เอาแค่รอด แต่ต้องเป็นเลิศ พลิกให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด แต่ต้องยั่งยืนและมีคุณภาพด้วย งานนี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนเมืองจำนวนมากเพื่อทำเรื่องนี้ด้วยกัน ให้ชาวนาไทยสามารถอยู่คู่กับคนเมืองไทย และประเทศไทยอย่างแข็งแรงและยั่งยืน ขอเชิญทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมกันนะคะ

(ขอบคุณข้อมูลจาก อ.เดชา ศิริภัทร แห่งมูลนิธิข้าวขวัญ)

หมายเหตุ อยากให้อ่าน เรื่องนี้ ด้วยค่ะ
การประชุมข้าวโลก คุณคิดว่าผู้ชนะการประกวดข้าวคือประเทศไหนคะ

+ There are no comments

Add yours