จุดเริ่มต้น

จุดเริ่มต้น


ถ้าถามว่าโครงการนี้เริ่มต้นอย่างไร

ขอตอบคำถามโดยการนำข้อความที่เป็นโพสต์แรกในเฟซบุ๊คของเรา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 มาเล่าอีกครั้งนะคะ
Screen Shot 2014-08-21 at 2.37.19 PM

โครงการนี้เกิดมาจากที่เราได้แรงบันดาลใจจากโรงเรียนปัญโญทัย

โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนทางเลือกแนวมนุษยปรัชญาค่ะ ไปในแนวธรรมชาติทั้งร่างกายและจิตใจ ก่อนปีใหม่ของทุกปี เด็กๆ จะมาร่วมกันแสดงดนตรีไทย เครื่องสายฝรั่ง และร้องเพลงที่สนามหญ้าในโรงเรียน ถือเป็นการฉลองปีใหม่ร่วมกันแบบเรียบง่าย พ่อแม่นอกจากดูไปด้วยความชื่นใจก็จะได้ร่วมสมทบทุนไปด้วย เพราะเป็นการแสดงเปิดหมวก (หมวกใหญ่มาก เป็นกล่องเชลโล่เลย)

เมื่อวันงานปีใหม่ที่แล้ว หมอพร (ผู้อำนวยการโรงเรียน) เล่าให้ฟังว่า ปีก่อน โรงเรียนได้ทุนจากดนตรีเปิดหมวกมา 3 หมื่นกว่าบาท จึงเอาเงินจำนวนนี้ไปเป็นทุนทำนาที่จังหวัดบุรีรัมย์ คือมีที่นาร้างอยู่ผืนนึงที่คุณแม่ท่านนึงให้ไปใช้ประโยชน์ได้ โรงเรียนจ้างให้ชาวนาครอบครัวหนึ่งใช้ที่แปลงนี้ปลูกข้าวแบบไบโอไดนามิค (Biodynamic เกษตรชีวพลวัตร ค้นพบโดยรูดอล์ฟ สไตเนอร์ เมื่อปี 1924 ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับปรัชญาของโรงเรียน) ซึ่งมีคุณครูจอน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ดูแลให้อีกที

ความตั้งใจของโรงเรียนคือ ให้เด็กๆ ได้มีที่นาไปปลูกข้าว เพราะเด็กโรงเรียนนี้ต้องไปเข้าค่ายเรียนรู้การปลูกข้าวกันช่วงป.3 ป.4 ทุกคน และอีกอย่าง ครอบครัวของชุมชนโรงเรียนก็จะได้ทานข้าวที่ปลอดภัย มีพลังชีวิตมาก และภูมิใจกับข้าวที่ปลูกด้วยมือลูกหลานของเราเอง (ซึ่งจะหวานกว่าปกติ)

ผลผลิตที่ได้ ทางโรงเรียนก็รับซื้อจากชาวนาครอบครัวนี้มาทั้งหมด เอามาขายที่สหกรณ์โรงเรียน ขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว ไม่พอขาย ต้องขอจำกัดให้ครอบครัวละ 1 กิโลเท่านั้น เพราะได้ออกมาไม่มาก ทานแล้วทุกบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันอร่อยมาก หอมมาก นุ่มมาก

ในวันงานปีใหม่วันนั้น หมอพรบอกว่า ในละแวกที่นาแถวนั้น มีครอบครัวนี้ครอบครัวเดียวที่ได้เงินจากการขายข้าว นอกนั้น ไม่มีใครได้เงินเลย เพราะเอาไปเข้าโครงการจำนำข้าวหมด… ฟังแล้วดีใจแทนครอบครัวของเขา และขณะเดียวกันก็เศร้าใจกับชาวนาคนอื่นๆ อีกมากมาย

สิ่งที่โรงเรียนทำ มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้อะไรหลายอย่าง ที่มันจะทำให้คุณภาพชีวิตของชาวนาในบ้านเราแตกต่างไป

มันจะเป็นอย่างไรคะ ถ้าเราจับคู่ ระหว่างครอบครัวคนในเมืองกับครอบครัวชาวนา หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ “ผูกปิ่นโตข้าว”

แล้วเราขอให้เขาปลูกข้าวอินทรีย์หรือข้าวปลอดสาร แล้วเราสัญญาว่าเราจะรับซื้อทั้งหมด เอามาแบ่งกันกินในครอบครัว ในก๊วนแก๊งค์เพื่อนเรา เราและเขาจะสามารถพลิกคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ได้มากมายเลยทีเดียว

รายได้ – ชาวนารู้แน่ๆ ว่าขายข้าวได้ และน่าจะได้ราคาดีกว่าขายให้โรงสี เพราะถ้าเราพร้อมที่จะสนับสนุนเขา เราจะไม่กดราคาเขาเด็ดขาด แต่เราจะให้เขาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะยังไงเราก็ซื้อราคานี้จากตลาดหรือจากห้างอยู่แล้ว

ลดต้นทุน – การใช้สารธรรมชาติกำจัดศัตรูพืชและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถลดต้นทุนในการทำนาได้มากมาย ตัดวงจร “ขายข้าวได้เงินแล้วต้องเอามาซื้อปุ๋ยซื้อยาแพง” ไปได้ ชาวนาพึ่งพาตัวเองได้ วงจรการกู้หนี้ยืมสินสามารถหมดไปได้

คุณภาพชีวิต – เมื่อเขาได้เปิดให้ตัวเองปลูกข้าวแบบอินทรีย์ หรืออย่างน้อยก็แบบปลอดสาร ใช้สารธรรมชาติในการกำจัดศัตรูพืช จะทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น ปลอดภัย ห่างไกลสารเคมีทั้งครอบครัว เราเองก็ได้กินข้าวที่แน่ใจได้ว่าปลอดภัยด้วย

ลดช่องว่างระหว่างคนเมืองและคนชนบท – เมื่อเราผูกปิ่นโตกับเขา เราจะไม่ได้เป็นแค่คนรับซื้อข้าวของเขาเท่านั้น แต่มันเหมือนกับการที่เรารับเขาเข้ามาในชีวิตเราด้วย เราอาจจะอยากไปเยี่ยมเขา ไปปลูกข้าวเกี่ยวข้าวกับเขา ไปกางเต๊นท์นอนในนาบ้าง พาลูกๆ ไปดำนา หรือรวมรุ่นชวนกันไป “ลงแขกเกี่ยวข้าว” เหมือนที่เคยมีในอดีต (อันนี้กิจกรรมมากน้อยอยู่ที่แต่ละคนจะวางแผนนะคะ) เราจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มุมมองอะไรที่คนเมืองอย่างเราหลงลืมไปแล้ว เราอาจจะได้กลับมาจากการอยู่กับเขา และสิ่งไหนที่เขาคนชนบทไม่เคยรู้มาก่อน เขาอาจจะได้รู้จากเรา เราไม่ได้ไปในฐานะที่เรารู้ดีกว่าหรือเราฉลาดกว่า แต่เราไปในฐานะเพื่อนที่เรียนรู้กันและกัน

สร้างความภูมิใจให้ความเป็นชาวนา – นานนมเนมาแล้ว ที่ชาวนาหรือคนชนบทรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า โง่กว่าคนเมือง อันนี้จะเริ่มต้นมาจากไหนเมื่อไหร่ ในบ้านหรือในทีวีก็สุดจะคาดเดา แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยหายไปไหน มันอยู่ในใจเขาตลอด การที่เราคนเมืองไปหาเขา แสดงความชื่นชมในสิ่งที่เขาทำ ขอเรียนรู้ในสิ่งที่เขารู้ มันเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับเขา และพลิกโลกของเขา ว่าไม่หรอก ไม่มีใครโง่กว่าใคร เรารู้ในสิ่งที่เรารู้ และการปลูกข้าวให้คนกินมันน่าภูมิใจจะตาย

เรารู้จักหลายคน ที่ทำงานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ทั้งเป็นผู้ผลิตสารธรรมชาติกำจัดศัตรูพืช ทั้งเป็นคนที่ทำเรื่องข้าว และตามที่เคยได้ยินมา ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่ายากมาก ที่จะเปลี่ยนให้เขาเลิกทำเคมีแล้วมาทำอินทรีย์หรือปลอดสาร ไม่ว่าจะอบรม ให้ข้อมูล หรือมีตัวอย่างที่ได้ผลมาให้ดูต่อหน้าต่อตาแค่ไหนก็ตาม มันยากมาก

คนที่ทำสำเร็จบอกว่า ต้องช่วยเขา และต้องช่วยเขาสุดๆ การช่วยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าเขาไม่มีความสามารถ แล้วเราต้องไปช่วยไปอุ้มเขา ไม่ใช่ค่ะ เขาสามารถอยู่แล้ว การทำนาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และมันต้องใช้อะไรหลายอย่างมาก แต่หมายถึงเราต้องเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้าน เคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกันกับเขา เพื่อให้เขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ตลอดเวลา และนั่นแหละคือความตั้งใจของโครงการนี้ – หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม คนกับคน คุยกัน ช่วยเหลือกัน พากันไปที่อนาคตที่ดีกว่า อนาคตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เชื่อว่าจากการที่เราทำโครงการนี้ด้วยกัน ชีวิตของชาวนาจะไม่เหมือนเดิม ชีวิตของเราก็เหมือนกัน รวมถึงอนาคตของประเทศเราด้วยค่ะ มันจะไม่เหมือนเดิม

รายเละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความตั้งใจของเรา อยู่ที่นี่ค่ะ

+ There are no comments

Add yours